วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

การพัฒนาอาชีพ

การพัฒนาอาชีพหลักของสังคมไทยอย่างยั่งยืนด้วยวิถีไทย

ส่วนนำ
                “ความมั่นคงของชาติจะมีได้ก็เพราะประชาชนอยู่ร่วมกันโดยเรียบร้อยและสามารถประกอบอาชีพ  เลี้ยงตนได้โดยปรกติสุข ไม่ต้องต่อสู้ผจญหรือหวาดระแวงภัยอันตรายที่คอยคุกคามเบียดเบียน”
                                                                          (พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ)
                ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในสายตาของชาวโลก มีผืนแผ่นดินสำหรับการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำการประมงได้อย่างต่อเนื่องทั่วทุกภาคของประเทศ อย่างที่เรียกได้ว่าเป็นดินแดนทองที่มีทรัพย์ในดินสิน     ในน้ำอุดมสมบูรณ์  ชาวต่างชาติได้รับผลประโยชน์จากแผ่นดินไทยในฐานะเป็นครัวของโลก  หากพิจารณา   ในระบบสังคมไทย แม้คนไทยจะประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติหลายศาสนาที่ย่อมมีความแตกต่างกันไปตามค่านิยม ความเชื่อ ขนบประเพณีตามเผ่าพันธุ์ของตนไปบ้าง คนไทยเหล่านั้นต่างประกอบอาชีพอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข ทั้งนี้เกิดจากการที่คนในสังคมไทยมีสิ่งยึดเหนี่ยวร่วมกัน ประกอบอาชีพตามความรู้ ความสามารถ ความรับผิดชอบของตน เพื่อให้ประเทศชาติบ้านเมืองประสบความสุข ความเจริญ และเมื่อนั้น คนในชาติก็จะได้รับความสุข ความเจริญรุ่งเรืองเกี่ยวเนื่องกันไปด้วย
                การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนในสังคมไทยเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้น ผลสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเยาวชนไทยได้รับโอกาสทางการศึกษา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. ๒๕๐๕ ความตอนหนึ่งว่า
                “...การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูง และอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบไป...”
                เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีหน้าที่หลักในการพัฒนาเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษา ได้กำหนดมาตรฐานด้านคุณภาพผู้เรียนไว้ในมาตรฐานที่ ๖ ที่ระบุว่า  “ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต”  จะเห็นได้ว่าความมุ่งหวังระดับประเทศที่จะสร้างพลเมืองดีของชาติในข้อหนึ่งนั้นคือต้องการให้เยาวชนไทยมีทักษะความสามารถในการทำงานและการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนในชาติ
                กล่าวโดยสรุปได้ว่า  ความมั่นคงของประเทศชาติและสังคมไทยส่วนหนึ่งควรได้รับจากการพัฒนาเยาวชนไทยให้มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมที่ดีงาม เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีให้แก่ประเทศชาติ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของประเทศ ที่มีพลังในการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน และร่วมใจกันสร้างประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองได้ต่อไป
                วิธีการหนึ่งคือการพัฒนาเยาวชนไทยให้สามารถประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนในสังคมไทยด้วยวิถีไทย    จึงจะนับได้ความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายเป็นการตอบแทนคุณของแผ่นดิน ดังพระราชดำรัสในสมเด็จ-    พระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ (๒๕๓๖ ๗) ความตอนหนึ่งที่ว่า
                “...แผ่นดินนี้มีคุณ  มีบุญคุณแก่ชีวิตของพวกเรามากมายนัก เพราะฉะนั้นชีวิตที่เกิดมานี้อย่าได้ว่างเปล่า จงตอบแทนให้รู้สึกตัวเสมอว่าเป็นหนี้บุญคุณ...”
                ในการศึกษาเรื่อง “วิถีไทย : การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนในสังคมไทย”  มีจุดประสงค์สำคัญ ดังนี้
                ๑.  เพื่อศึกษาความหมาย ความสำคัญของอาชีพ
                ๒.  เพื่อศึกษาสภาพการประกอบอาชีพของสังคมไทยในสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน
                ๓.  เพื่อศึกษาอาชีพหลักของสังคมไทย
                ๔.  เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาอาชีพหลักของสังคมไทยอย่างยั่งยืนด้วยวิถีไทย
                หัวข้อที่ศึกษาประกอบด้วย
                ๑.  ความหมาย ความสำคัญและประเภทของอาชีพ
                                ๑.๑  ความหมายของอาชีพ
                                ๑.๒  ความสำคัญของอาชีพ
                ๒.  สภาพการประกอบอาชีพของสังคมไทยในสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน
                                ๒.๑  ความหมายของคำว่า สังคม
                                ๒.๒  การประกอบอาชีพของคนไทยสมัยสุโขทัย
                                ๒.๓  การประกอบอาชีพของคนไทยสมัยอยุธยา
                                ๒.๔  การประกอบอาชีพของคนไทยสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์                       
                ๓.  อาชีพหลักของสังคมไทย
                                ๓.๑  ประเภทของอาชีพ
                                ๓.๒  การประกอบอาชีพของคนไทยในช่วงสมัยโลกาภิวัตน์
                ๔.  แนวทางการพัฒนาอาชีพหลักของสังคมอย่างยั่งยืนด้วยวิถีไทย
                                ๔.๑  ความหมายของคำว่า วิถีไทย
                                ๔.๒  การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนด้วยตามหลักของพระพุทธศาสนา
                                ๔.๓  การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนตามหลักปชรัญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนเนื้อเรื่อง
๑.  ความหมาย ความสำคัญ และประเภทของอาชีพ
                ๑.๑  ความหมายของอาชีพ
                พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  (๒๕๔๖ :  ๑๓๖๒)  ให้ความหมายของคำว่า อาชีพ ไว้ดังนี้
                อาชีพ, อาชีว-, อาชีวะ น. การเลี้ยงชีพ การทำมาหากิน งานที่ทำป็นประจำเพื่อเลี้ยงชีพ (ป., ส.)
                นอกจากนี้ คำที่แสดงความหมายเกี่ยวกับอาชีพยังมีอีกหลายคำ ดังนี้ อาชีพที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเรียกว่า วิชาชีพ เช่น ครู วิศวกร แพทย์ พยาบาล ทนายความ อาชีพที่ถูกกฎหมายและศีลธรรม เรียกว่า สัมมาชีพ เช่น อาชีพค้าขาย  อาชีพรับจ้าง ส่วนบางอาชีพที่ผิดกฎหมาย เรียกว่า มิจฉาชีพ เช่น โจร เป็นต้น
                ๑.๒  ความสำคัญของอาชีพ
             การประกอบอาชีพมีความสำคัญและประโยชน์ทั้งต่อตนเอง  ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ  กล่าวตือ อาชีพย่อมเป็นประโยชน์ต่อตนเอง  ทำให้เป็นคนรู้คุณค่าของเงิน ใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด วางแผนการใช้จ่ายเงิน การเก็บออมเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิต  ใน ด้านครอบครัว การมีอาชีพจะสร้างคุณค่าให้กับตนเองและสมาชิกในครอบครัว เป็นตัวอย่างแก่คนในครอบครัวและบุคคลอื่นๆ นอกจากนี้การมีอาชีพยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชน  กล่าวคือ เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ คือ เมื่อประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ รัฐสามารถเก็บภาษีจากประชาชนได้ สามารถนำรายได้จากการเก็บภาษีไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ได้
๒.  สภาพการประกอบอาชีพของสังคมไทยในสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน
                ๒.๑  ความหมายของคำว่า สังคม
                พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  (๒๕๔๖ :  ๑๑๕๙) ให้ความหมายของคำว่า สังคมไว้ดังนี้
                สังคม น. คนจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบ กฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญร่วมกัน เช่น สังคมชนบท ; วงการ หรือสมาคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น สังคมชาวบ้าน
                เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การอยู่รวมกันของกลุ่มคนในสังคมในด้านที่อยู่อาศัย  การตั้งถิ่นฐานร่วมกัน มีความสัมพันธ์ต่อกันในระบบเครือญาติ มีการกำหนดกฎระเบียบของสังคม และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามบทบาทของตน ก่อให้เกิดสังคมต่างๆ ขึ้นโดยทั่วไปสังคมของกลุ่มชนใดจะเป็นเช่นใดขึ้นกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ความเป็นอยู่ของคนในสังคม และการติดต่อสัมพันธ์กันกับกลุ่มชนอื่นๆ
                ๒.๒  การประกอบอาชีพของคนไทยสมัยสุโขทัย
                สังคมไทยสมัยอยุธยาเป็นสังคมที่เรียบง่าย บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ ดำรงชีวิตด้วยการเกษตร ดังปรากฏถ้อยคำในสิลาจารึกพ่อชุนรามคำแหง หลักที่ ๑ ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”  และยังมีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน ดังในข้อความที่ว่า “ใครใคร่ค้าช้าง ค้า ใคร ใคร่ค้าม้า ค้า”  หรือ “เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย”  สำหรับสินค้าที่มีชื่อเสียงคือ เครื่องสังคโลก ที่เป็นที่ต้องการของต่างชาติ ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีการค้าขายเครื่องสังคโลกกับจีน อาจกล่าวได้ว่า การประกอบอาชีพของสังคมในสมัยสุโขทัย ประกอบด้วยด้านการเกษตรและการค้าขาย ซึ่งมีขึ้นเพื่อการเลี้ยงชีพ
                ๒.๓  การประกอบอาชีพของคนไทยสมัยอยุธยา
                สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน (๒๕๔๘ : ๑๐๙ – ๑๑๒)  ได้ระบุว่า สังคมสมัยอยุธยาที่ยาวนานกว่า ๔๐๐ ปี เป็นสังคมที่มีสภาพการเมืองและเศรษฐกิจเติบโตเป็นปึกแผ่น แม้จะรับสืบทอดลักษณะทางสังคมมาจากสมัยสุโขทัยมาอยู่บ้างแต่มีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เห็นได้ชัดคือมีการแบ่งชนชั้นที่เคร่งครัดกว่าสมัยสุโขทัย มีการรับอิทธิพลของชาติอื่นที่ได้เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย อาหรับ โปรตุเกส และฮอลันดา ซึ่งมีผลทำให้บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าหลายด้าน หากจะพิจารณาถึงอาชีพหลักของสังคมไทยสมัยอยุธยาพบว่าอาชีพหลักยังคงเป็นเกษรตรกรรม  ชาวนาซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติได้เลี้ยงชีพด้วยการทำนา แต่ยังคงมีลักษณะทำเพื่อเลี้ยงชีพ ส่วนอาชีพค้าขายนั้น เริ่มมีการค้าระหว่างรัฐและขุนนางกับพ่อค้าชาวต่างชาติรายใหญ่  ที่เห็นได้ชัดดังเช่นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวกรีก ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ มีผลงานดีเด่น จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ออกญาวิไชเยนทร์ เป็นต้น
                ๒.๔  การประกอบอาชีพของคนไทยสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์
                เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านมาสู่สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงสมัยของการเปลี่ยนแปลงไปส่ความเจริญอย่างรวดเร็ว แม้ในระยะเริ่มแรกจะเกิดจากศึกสงครามอยู่บ้าง แต่เมื่อประเทศมีการทำสนธิสัญญาทางการค้าอย่างเป็นทางการ จึงเป็นเปิดประตูรับชาวต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเจริญแทบทุกด้าน ในด้านการประกอบอาชีพก็ได้รับอิทธิพลจากการเลิกระบบทาส และการปฏิรูปประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  จึงมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ส่งผลให้เกิดอาชีพอย่างมากมาย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอาชีพสังคมไทยในปัจจุบัน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน (๒๕๔๘ : ๑๑๓ – ๑๑๔)


๓.  อาชีพหลักของสังคมไทย
                ๓.๑  ประเภทของอาชีพ
                เพ็ญศรี  เลิศเกียรติวิทยา และสิฏฐากร  ชูทรัพย์  (๒๕๕๓ : ๑๖๔ – ๑๗๙) ได้กล่าวถึงอาชีพหลักของสังคมไทยโดยแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ ดังนี้
                        ๓.๑.๑   การแบ่งอาชีพตามเนื้อหาวิชาของอาชีพ สามารถจัดกลุ่มอาชีพตามเนื้อหาวิชาได้เป็น ๖ ประเภท ดังนี้ อาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและบริการ  คหกรรม  หัตถกรรม และศิลปกรรม  มีรายละเอียด ดังนี้
                                              ๑) อาชีพเกษตรกรรม ถือว่าเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบันคนไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ยังประกอบอาชีพนี้อยู่ อาชีพเกษตรกรรมต้องใช้พื้นที่ในการประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก  ได้แก่ การทำนา ทำไร่ ทำสวน และ เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
                          ๒)  อาชีพอุตสาหกรรม การทำอุตสาหกรรม หมายถึง การผลิตสินค้าอันเนื่องมาจาก
การนำเอาวัสดุ หรือสินค้าบางชนิดมาแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้มากขึ้น การประกอบอาชีพอุตสาหกรรมแบ่งตามขนาด ได้  ๔  ประเภท ดังนี้
                                            (๑) อุตสาหกรรมในครอบครัว เป็นอุตสาหกรรมที่ทำกันภายในบ้าน ใช้แรงงานคนในครอบครัวเป็นหลัก อาจใช้เครื่องจักรขนาดเล็กช่วยในการผลิต ใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น มีลักษณะการดำเนินงานไม่เป็นระบบมากนัก ใช้เทคโนโลยีแบบง่าย ๆ และมีการลงทุนไม่มากนัก ตัวอย่างอุตสาหกรรมในครอบครัว ได้แก่ การทอผ้า การทำเครื่องจักสาน การทำธูป  การทำดินสอพอง   เป็นต้น
                                            (๒)  อุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างคนงานมากกว่า ๕๐ คน
ใช้เงินทุนดำเนินการไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท มีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน ใช้แรงงานที่มีฝีมือไม่มากนัก ตัวอย่างอุตสาหกรรมขนาดย่อม ได้แก่  โรงกลึง อู่ซ่อมรถ โรงงานทำขนมปัง โรงสีข้าว เป็นต้น
                                           (๓)  อุตสาหกรรมขนาดกลาง เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างคนงานมากกว่า ๕๐ คน
แต่ไม่เกิน ๒๐๐ คน ใช้เงินทุนดำเนินการมากกว่า ๑๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๑๐๐ ล้านบาท มีการจัดการที่ดี แรงงานที่ใช้ต้องมีทักษะ ความรู้ ความสามารถในกระบวนการผลิตเป็นอย่างดี เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ
ตัวอย่างอุตสาหกรรมขนาดกลาง ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปสมุนไพร  อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
                                            (๔)  อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมที่มีคนงานมากกว่า ๒๐๐ คนขึ้นไป เงินทุน ในการดำเนินการมากกว่า ๒๐๐ ล้านบาท มีระบบการจัดการที่ดี ใช้คนที่มีความรู้ ทักษะ ความสามารถเฉพาะด้านหลายสาขา  ใช้เครื่องจักร คนงาน เงินทุน จำนวนมากขึ้น การผลิตมีกระบวนการที่ทันสมัยและผลิตสินค้าได้ทีละมาก ๆ มีการว่าจ้างบุคคลระดับผู้บริหารที่มีความสามารถ ตัวอย่างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก เป็นต้น
                    ๓) อาชีพพาณิชยกรรมและอาชีพบริการ อาชีพพาณิชยกรรมเป็นการประกอบอาชีพที่เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้ากับเงิน ผู้ประกอบอาชีพทางพาณิชยกรรมจึงจัดเป็นคนกลาง ซึ่งทำหน้าที่ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตและนำมาขายต่อให้แก่ผู้บริโภค ประกอบด้วยการค้าส่งและการค้าปลีก โดยอาจจัดจำหน่าย ในรูปของการขายตรงหรือขายอ้อม  อาชีพบริการ หมายถึง อาชีพที่ทำให้เกิดความพอใจแก่ผู้ซื้อ ได้แก่ บริการขนส่ง บริการทางการเงิน บริการท่องเที่ยว บริการรักษาพยาบาล เป็นต้น ในการประกอบอาชีพพาณิชยกรรม หรือบริการ ผู้ประกอบอาชีพจะต้องมีความสามารถในการจัดหา มีความคิดริเริ่ม และมีคุณธรรม จึงจะทำให้การประกอบอาชีพเจริญก้าวหน้า
                    ๔) อาชีพคหกรรม การประกอบอาชีพคหกรรม ได้แก่ อาชีพที่เกี่ยวกับการประกอบ
อาหาร ขนม การตัดเย็บเสื้อผ้า การเสริมสวย การประดิษฐ์ของชำร่วย เป็นต้น
                   ๕) อาชีพศิลปหัตถกรรมงานฝีมือและสิ่งประดิษฐ์
     (๑)  อาชีพหัตถกรรม ได้แก่ อาชีพที่เกี่ยวกับงานช่าง โดยการใช้มือในการผลิตชิ้นงานเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ อาชีพจักสาน แกะสลัก ทอผ้าด้วยมือ ทอเสื่อ เป็นต้น
                                  (๒)  อาชีพศิลปกรรม การประกอบอาชีพศิลปกรรม ได้แก่ อาชีพเกี่ยวข้องกับการแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ เช่น การวาดภาพ การปั้น การดนตรี การแสดง การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การถ่ายภาพ เป็นต้น
                        ๖) อาชีพการประมง เป็นกิจกรรมต่างๆที่ใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ เริ่มตั้งแต่การจับปลา การแปลรูป การเพาะเลี้ยง และการจำหน่ายหรือบริโภค ในแหล่งน้ำนั้น มีทั้งการจับและการเพาะเลี้ยงปลาเพื่อใช้เป็นอาหารเป็นส่วนใหญ่ และมีการรวบรวมหรือเพาะผลิตเป็นปลาตู้สวยงามในบางชนิด วิธีการประมงนั้นมี ๒ วิธี คือ การจับ และการเพาะเลี้ยง
                ๓.๑.๒ การแบ่งอาชีพตามลักษณะของการประกอบอาชีพ
                     การแบ่งอาชีพตามลักษณะการประกอบอาชีพ เป็น ๒ ลักษณะ คือ อาชีพอิสระ และ อาชีพรับจ้าง
                           ๑)  อาชีพอิสระ หมายถึง อาชีพที่ผู้ประกอบการดำเนินการด้วยตนเองหรือเป็นกลุ่ม โดยไม่ต้อง ใช้คนจำนวนมาก อาจมีการจ้างคนอื่นมาช่วยงานได้  เจ้าของกิจการเป็นผู้ลงทุน  คิด และตัดสินใจด้วยตนเอง ตัวอย่างการประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า  ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างเสริมสวย ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์   เป็นต้น
                           ๒)  อาชีพรับจ้าง หมายถึง อาชีพที่มีผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการ โดยตัวเองเป็นผู้รับจ้างทำงานให้ อาชีพรับจ้างประกอบด้วย "นายจ้าง" หรือ “ผู้ว่าจ้าง”  และ "ลูกจ้าง" หรือ “ผู้รับจ้าง” โดยมี "ค่าจ้าง"หรือ “เงินเดือน”เป็นค่าตอบแทน  เช่น  พนักงานบริษัท  พนักงานบริการ เป็นต้น
               

                ๓.๒ อาชีพหลักของคนไทยในช่วงสมัยโลกาภิวัตน์   ในช่วงสมัยโลกาภิวัตน์ที่ทุกคนทั่วโลกสามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วและสะดวกโดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ทั่วโลกสามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างไร้พรมแดน การแลกเปลี่ยนทางการศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้กับทุกบุคคลทุกสถานที่และทุกเวลา ส่งผลให้เกิดการอาศัยเทคโนโลยีอย่างมาก อาชีพหลักของคนในปัจจุบันจึงต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารกันอย่างเห็นได้ชัดเจน มีการขยายตัวอาชีพออกไปอย่างกว้างขวางโดยไม่ทิ้งอาชีพหลักด้านการเกษตรที่ยังคงสืบทอดต่อมาอย่างยาวนาน การปลูกข้าวกันจะปลูกันทั้งประเทศ และปลูกกันมากในภาคกลาง ซึ่งจนถึงกับบางครั้งมีคำกล่าวที่เรียกภาคกลางของประเทศไทย ว่า "อู่ข้าวอู่น้ำ" ของเอเซียแม้กระนั้นก็ตามจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพป็นการเกษตรภาคอุตสาหกรรม โดยอาศัยความรู้และทักษะทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมมาบูรณาการกันอย่างมีประสิทธิภาพ  สังคมไทยจึงเป็นสังคมสำคัญของโลกในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสินค้าด้านการเกษตร ที่เรียกว่าเป็น ครัวของโลก  สินค้าที่เป็นที่ต้องการแม้จะมีหลายประเภท แต่ ข้าวหอมมะลิ ก็ยังเป็นสินค้าอันดับต้นๆในความต้องการของตลาดโลก อีกทั้งการดำเนินงานธุรกิจการเกษตรภาคอุตสาหกรรมมีความเจริญเติบโตในต่างประเทศ และประสบความสำเร็จสามารถนำเงินรายได้เข้าประเทศได้อย่างมา
๔.  แนวทางการพัฒนาอาชีพหลักของสังคมอย่างยั่งยืนด้วยวิถีไทย
                ๔.๑  ความหมายของคำว่า วิถีไทย
                คำว่าวิถีไทย  มาจากคำศัพท์ วิถี ประกอบกับคำว่าไทย คำศัพท์ วิถี แปลว่า สาย แนว ถนน หรือทาง วิถีไทย จึงมีความหมายถึง แนวทางความเป็นไทย สื่อนัยถึง การดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมไทยตลอดจนถึงการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย ที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงสมัย (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๗ : ๒๓๘)
                วิวัฒน์ชัย  อัตถากร (อ้างถึงในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๗ : ๒๕๔)  ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพของคนในสังคมไทย ดังนี้
                                ๑)  การดำเนินการพัฒนาต้องให้ความสำคัญแก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและเอื้อต่อกัน
                                ๒)  อุตสาหกรรมสมัยใหม่ควรมีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มั่นคง ที่ประยุกต์พัฒนาจากภูมิปัญญาของเรา
                                ๓)  การไม่ละทิ้งภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นฐานหลักของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย และทำให้เราได้เปรียบประเทศอื่นมากที่มีภาคผลิตอาหารเลี้ยงผู้คนในสังคมได้ อีกทั้งยังเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยด้วย
               
                ๔.๓  การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนตามหลักพระพุทธศาสนา
                พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้เป็นผู้มีความประพฤติทั้งกาย วาจาใจ ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงคุณธรรมที่พึงปฏิบัติเพื่อการพัฒนาอาชีพหลักของคนไทยให้ยั่งยืนไว้หลายประการ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างคุณธรรมโดยสรุป ดังนี้
                                ๑)  ธรรมที่เป็นอริยทรัพย์  หมายถึง ทรัพย์ในคนเรา ๗ ประการ  ประกอบด้วย  ศรัทธา ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ   ศีล การรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย หิริ ความละอายใจ โอตตัปปะ ความกลัวบาป พาหุสัจจะ การได้ยินและได้ฟังมาก จาคะ การเสียสละ และปัญญา ความรอบรู้
                                ๒) ธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ  ได้แก่ อิทธิบาท ๔  ประกอบด้วย ฉันทะ ความพอใจ รักใคร่   ในสิ่งนั้น วิริยะ ความพยายาม จิตตะ ความเอาใจใส่ ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น และ วิมังสา การพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น
                                ๓)  ธรรมที่จำเป็นแก่หมู่คณะ  ได้แก่ ความสามัคคี  ซึ่งหมายถึง ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  สามัคคีเป็นพลังในการประกอบกิจการน้อยใหญ่ทั้งปวง  ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว     ที่ได้พระราชทานแก่สามัคคีสมาคม พ.ศ. ๒๕๒๕  ความตอนหนึ่งว่า
                                “ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปฏิบัติบริหารงานใหญ่ ๆ เช่น งานของแผ่นดิน และความสามัคคีนี้จะเกิดขึ้นมีมั่นคงได้ ก็ด้วยบุคคลในหมู่คณะ มีคุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวผูกพันจิตใจของกันและกันไว้”  
                พระธรรมปิฎก (อ้างถึงในเพ็ญศรี  เลิศเกียรติวิทยา และสิฏฐากูร  ชูทรัพย์, ๒๕๕๓ : ๙)  ได้กล่าวไว้ถึงการพัฒนาตนเองซึ่งหมายถึงการพัฒนาอาชีพว่ามี ๔ ด้าน  ดังนี้
                               ๑)  การพัฒนาทางกาย  ด้วยการรักษาร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี  จะทำให่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างดี และทำให้ตนมีความสุขอยู่ได้ตามสมควร
                                ๒)  การพัฒนาศีล  ด้วยการปฏิบัติตามศีล ๕ หรือมากกว่านั้น จะช่วยให้ปฏิบัติตนที่มีคุณต่อคนอื่น และต่อสังคม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และปฏบัติหรือประกอบอาชีพที่สุจริต  อีกทั้งยังช่วยให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้สามารถอยู่ร่วมผู้อื่นได้
                                ๓)  การพัฒนาจิต  เพื่อเป็นผู้สุขภาพจิตที่ดี ขจะทำให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง มีความยินดีในการทำงาน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรู้จักเห็นใจผู้อื่น ไม่มองโลกในแง่ร้าย
                                ๔)  การพัฒนาทางสติปัญญา คือ รู้จักใช้ความสามารถของตนเองให้เกิดคุณค่า รู้จักการพิจารณาไตร่ตรองสิ่งต่าง ๆด้วยเหตุผล ยอมรับความจรง และพยามหาทางที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความสุขุมรอบคอบ
                จะเห็นว่าคุณธรรมเป็นคุณธรรมเป็นเครื่องกำหนดให้คนมีความประพฤติที่ดีงาม และยังสร้างคนให้ปฏิบัติตนถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ประกอบอาชีพใดก็ตามจึงควรมีการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนโดยยึดคุณธรรมตามหลักของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะก่อให้เกิดความสุข ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต และความมั่นคงของชาติได้อย่างแน่นอน
                ๔.๔  การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
                แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาการพัฒนาที่ใช้ได้ตั้งแต่ระดับบุคคล  กลุ่มบุคคล จนถึงระดับประเทศ เป็นการดำเนินงานที่ยึดหลักทางสายกลาง ที่อาศัยเงื่อนไขด้านความรู้ และคุณธรรม  เพื่อนำให้เกิดความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มที่ดีในชีวิต
                ประเวศ  วะสี  (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๗ : ๒๕๐)ได้ ได้วิเคราะห์ว่า ความพอเพียง นั้นควรมีอย่างน้อย ๗ ประการ ดังนี้
                                ๑)  การพอเพียงสำหรับทุกคน ทุกครอบครัว ไม่ใช่เศรษบกิจแบบทอดทิ้งกัน
                                ๒)  จิตใจพอเพียง ทำให้รักและเอื้ออาทรคนอื่นได้
                                ๓) สิ่งแวดล้อมพอเพียง เช่น การทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งได้ทั้งอาหาร ได้ทั้งสิ่งแวดล้อม และได้ทั้งเงิน
                                ๔)  ชุมชมแข็งพอเพียง เพื่อร่วมกันคิดและหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้หมดสิ้นไป
                                ๕)  ปัญญาพอเพียง  มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ และปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง
                                ๖)  การอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมพอเพียง  ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพอย่างเหมาะสมในท้องถิ่นนั้นๆ
                                ๗)  การมีความมั่นคงพอเพียง  คือ การมีฐานะและรายได้ที่คงเส้นคงวา ไม่รวยหรือจนอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจ ความวิตกกังวล และความทุกข์ตามมาได้
                ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าคนในสังคมจะประกอบอาชีพก็ตาม หากน้อมนำการพัฒนอาชีพหลักของตนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ตนมีความพอใจในสิ่งที่ตนทำ รู้จักความพอประมาณ และพึ่งพาตนเองได้  มีความสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก  เป็นการพัฒนางานอาชีพของตนบนวิถีไทย  ผลที่ได้รับจะก่อให้กิดความสุขอย่างยั่งยืน ดังตัวอย่างบุคคลที่ได้ประกอบอาชีพตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงที่มีให้พบเห็นทั่วทุกภาคของประเทศ ในทุกอาชีพ 




ส่วนสรุป                              
                การประกอบอาชีพนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่า "งานคือชีวิต”  หากจะพิจารณาถึงการประกอบอาชีพของคนในสังคมจะเห็นได้ว่าเกิดจากความต้องการความอยู่รอด ก่อให้เกิดความต้องการขั้นปัจจัยพื้นฐานด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค แต่เดิมความต้องการเหล่านี้เกิดขึ้นเฉพาะตน หรือกลุ่มของตน ทำให้เกิดอาชีพไม่มาก แต่เมื่อมีการติดต่อกันมากขึ้น ทำให้เกิดการติดต่อค้าขาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนความรู้ วัฒนธรรมมากขึ้น อาชีพจึงเกิดมีขึ้นมากมายจนนับไม่ถ้วน
                ในปัจจุบัน แม้สังคมไทยได้มีพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ทำให้เกิดความนิยมชาติตะวันตก และประเทศได้รับการพัฒนาโดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นแม่แบบในการขับเคลื่อนประเทศ ผลที่ได้รับมีผลด้านบวกและลบต่อสังคมไทย คือ ด้านบวก สังคมไทยมีความเจริญก้าวหน้าในด้านวัตถุ ได้รับวิทยาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ ชีวิตความเป็นอยู่มีความสะดวกสบาย ผู้คนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพตามความต้องการ และความถนัดของตน
                แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น สังคมไทยกลับเป็นสังคมที่มีปัญหาด้านสังคม ศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมมากมายหลายประการ ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วกัน
                ในส่วนของการประกอบอาชีพนั้นผลร้ายแรงที่เกิดขึ้นคือ การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยได้รับโอกาสสร้างความร่ำรวยได้มากยิ่งขึ้น ส่วนผู้มีฐานะยากจนขาดโอกาสทางการศึกษาจะไม่สามารถสร้างฐานะจากความยากจนไปสู่ฐานะร่ำรวยได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเรื้อรังมานานเช่นนี้ ก่อให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน  ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เน้นความสมดุลระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม และการมีสังคมที่เกื้อกูลสมานฉันท์  ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้ในทุกเรื่อง นั่นคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยวิถีไทย อันประกอบด้วย การพัฒนาตามหลักของพระพุทธศาสนา และการน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
                ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขปัญหาของสังคม เพื่อให้คนสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนมั่นคง มีชีวิตที่มีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดีนั้น การนำแนวคิดการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนด้วยวิถีไทยตามหลักพระพุทธศาสนา และน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ นับเป็นการพัฒนาคนให้มีคุณภาพและคุณธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าที่สุดของสังคม    
                เนื่องในวาระฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในปี พุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้ การดำรงชีวิตด้วยคุณธรรม จึงเป็นเรื่องที่พึงปฏิบัติบำเพ็ญ เพื่อสักการะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิริมงคลกับตนและสังคมไทย เมื่อสังคมมีคนดี ประเทศชาติก็ย่อมจะมีความมั่นคงสืบไป ดังคำกล่าวของพลเอกเปรม           ติณสูลานนท์ (เกษมศักดิ์  วิชิตเชื้อ อ้างถึงในสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม, ๒๕๔๖ : ๑๙) ที่ว่า
                “การพัฒนาคนให้เป็นผู้ที่พร้อมด้วยคุณภาพและคุณธรรม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่ง เพราะคนหรือทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ ประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากระรรมชาติ แต่ขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและคุณธรรม หากไม่รักษาหรือนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จะไม่สามารถพัฒนาประเทสให้มีความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าได้”
                 
               
บรรณานุกรม

เกษมศักดิ์  วิชิตเชื้อ.  คุณธรรม สร้างคน สร้างชาติ  เรียงความชนะการประกวดจัดโดยสมาคมศิษย์เก่า
                โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม, ๒๕๔๖.
คณะทำงานโครงการพัฒนาการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ.  กระแสพระราชดำรัสและพระราชเสาวนีย์             ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ.  ม.ป.ท. :  แก่นคำ ออฟเซ็ท การพิมพ์, ๒๕๓๖. 
เพ็ญศรี เลิศเกียรติวิทยา และสิฏฐากร ชูทรัพย์.หนังสือเรียนรายพื้นฐาน งานอาชีพ ๔-๖ . (พิมพ์ครั้งที่๑).
                กรุงเทพฯ เอมพันธ์ ,๒๕๕๓.
ราชบัณฑิตยสถาน.  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒.  กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์
                พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖.
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ  เล่มที่ ๓๒.  กรุงเทพฯ  โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์
               ใน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๕๔๘.
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ฉบับเสริมการเรียนรู้  กรุงเทพฯ  โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
                โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๕๔๘.
สุโขทัยธรรมาธิราช,มหาวิทยาลัย.  คู่มือการศึกษาชุดวิชาไทยศึกษา หน่วยที่ ๘ – ๑๕.  นนทบุรี : โรงพิมพ์
                มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,  ๒๕๔๗.






ประวัติผู้จัดทำ


ชื่อ – นามสกุล    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น